ยาวาร์ฟาริน 2 มิลลิกรัม (warfarin 2 mg) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดซึ่งอาจไปอุดตันตามเส้นเลือดของร่างกาย เช่น สมอง ปอด ขา หรือที่ลิ้นหัวใจเทียม
ข้อบ่งใช้ที่สำคัญ
- หลังผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม
- โรคลิ้นหัวใจรูมาติค (RHD)
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF)
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- เส้นเลือดในปอด
- เส้นเลือดแดงบริเวณแขน ขา หรือเส้นเลือดดำใหญ่อุดตันจากลิ่มเลือด
- ประวัติเส้นเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือด
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
การหักแบ่งเม็ดยาเป็นเศษส่วน
หากลืมทานยาควรทำอย่างไร
กรณีลืมทานยาไม่เกิน 12 ชม.ให้รีบทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ในขนาดยาเท่าเดิม
กรณีลืมทานยาเกิน 12 ชม.ไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลย และทานมื้อต่อไปในขนาดเดิม เวลาเดิม และจดบันทึกทุกครั้งที่ลืมทานยา และนำมาแจ้งให้แพทย์ทราบ
ตัวอย่างกรณีลืมทานยา
หากปกติท่านทานยาวาร์ฟาริน เวลา 8 โมงเช้า ของทุกวัน กรณีลืมทานยาแต่ยังไม่เกินเวลา 2 ทุ่ม ให้ท่านทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ จากนั้นเวลา 8 โมงเช้าของอีกวัน ท่านก็สามารถทานยาได้ในขนาดเท่าเดิม โดยไม่เพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน
- มาตรวจตามแพทย์นัด เพื่อติดตามค่าการแข็งตัวของ เลือดที่เรียกว่าค่า ไอเอ็นอาร์ (INR) ซึ่งใช้บอกถึงประสิทธิภาพของการรักษาด้วยยาวาร์ฟาริน และเป็นค่าที่แพทย์ใช้พิจารณาปรับขนาดยา
- ท่านต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง และสังเกตอาการผิดปกติ
อาการเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ มีรอยช้ำตามตัวเป็นจ้ำๆ ประจำเดือนผิดปกติ ไอเป็นเลือด เป็นต้น
อาการลิ่มเลือดอุดตัน เช่น ปวดศีรษะเฉียบพลัน หรือ เวียนศีรษะ อาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ออก พูดไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น
*** หากเกิดอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที ***
- หลีกเลี่ยงการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ
ข้อควรระวัง
- อาหารและยาที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน
อาหาร : ที่มีวิตามินเคและอี สูงมีผลต้านฤทธิ์ยา
พืชผักใบเขียว เช่น กระถิน ชะอม ผักกะเฉด สะตอ ผักโขม ผักสลัดใบเขียว บล็อกโคลี กะหล่ำปลี ผักกาดหอม ผักคะน้า สาหร่ายทะเล
กลุ่มไขมัน และน้ำมัน (วิตามินอีสูง): น้ำมัน ถั่วเหลือง น้ำมันตับปลา น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก
กลุ่มโปรตีน : ถั่วเมล็ดแห้ง ปลาทูน่าในน้ำมันตับหมู
กลุ่มอาหารที่ปรุงแล้ว : น้ำซอสราดสลัด
แต่อาหารเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อห้าม เพียงแต่ควรทานในปริมาณเท่าเดิมในแต่ละวัน
อาหารที่มีผลต่อระดับยาวาร์ฟาริน
ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาลูกกลอน ยาชุด ยาแผนโบราณ อาหารเสริม หรืออาหารสมุนไพรสกัดบางชนิด เช่น สารสกัดจากกระเทียม โสม ใบแปะก๊วย หรือสมุนไพรจีน
ยา : ยาที่เพิ่มฤทธิ์ยาวาร์ฟาริน เช่น
ยาแก้ปวด เช่น Indomethacin, piroxicam,Diclofenac, Ibuprofen
ยาฆ่าเชื้อ เช่น Co-trimoxazole, Ciprofloxacin
ยาหัวใจ เช่น Amiodarone, Aspirin
ยาที่ลดฤทธิ์ยาวาร์ฟาริน เช่น
ยากันชักบางตัว เช่น Carbamazepine, Phenytoin
ยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Rifampicin, Griseofulvin
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- ยานี้มีผลต่อทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้เด็กพิการได้ ดังนั้นหากท่านตั้งครรภ์หรือต้องการจะมีบุตรควรปรึกษาแพทย์
การเก็บรักษายา
- เก็บยาให้พ้นแสง และความชื้น
- เก็บยาไว้ในซองสีแดงหรือขวดยาที่โรงพยาบาลจัดให้
เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
*** รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
*** ไปพบแพทย์เพื่อรับยาต่อเนื่องและตรวจเลือดตามนัดทุกครั้ง
*** รายงานปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งรวมทั้งการลืมทานยา
*** บอกแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลว่าท่านกำลังใช้ยาวาร์ฟารินอยู่ในขณะนี้
มีข้อสงสัยเรื่องยาสามารถติดต่อได้ที่แผนกเภสัชกรรม
เบอร์โทร : 042-784021 ต่อ 113